ข้อสังเกตจากการตรวจผลงาน ของคณะกรรมการประเมินผลงาน

บทความต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะในการสร้างแบบฝึกทักษะ จากข้อสังเกตของคณะกรรมการประเมินผลงานวิทยฐานะ ข้าพเจ้าต้องขออภัยที่ไม่สามารถอ้างอิงชื่อท่านได้(เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ทราบว่าคณะกรรมการเป็นใครบ้าง) จึงขออภัย และขออนุญาตเผยแพร่ มา ณ ที่นี้ เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการที่ครูจะนำไปใช้ในการทำผลงานหรือสร้างแบบฝึกเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้กับนักเรียนของต่อไป

1. รูปแบบของแบบฝึกทักษะ การสร้างการออกแบบแบบฝึกทักษะเป็นสิ่งสำคัญในการจูงใจให้ผู้เรียนได้ทดลองปฏิบัติ แบบฝึกจึงควรมีรูปแบบที่หลากหลาย มิใช่แบบเดียว จะเกิดความจำเจน่าเบื่อหน่าย ไม่ท้าทายให้อยากรู้อยากลอง ซึ่งเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก ดังนี้

  1. แบบถูกผิด เป็นแบบฝึกที่เป็นประโยคบอกเล่า ให้ผุ้เรียนอ่านแล้วเลือกใส่เครื่องหมายถูกหรือผิด ตามดุลยพินิจของผู้เรียน
  2. แบบจับคู่ เป็นแบบฝึกที่ประกอบด้วยตัวคำถามหรือตัวปัญหา ซึ่งเป็นตัวยืนไว้ในสดมภ์ขวามือ มาจับคู่คำถามให้สอดคล้องกัน โดยใช้หมายเลขหรือรหัสคำตอบไปวางไว้ที่หน้าข้อคำถาม หรือจะใช้การโยงเส้นก็ได้
  3. แบบเติมคำ หรือเติมข้อความ เป็นแบบฝึกที่มีข้อความไว้ให้ แต่จะเว้นช่องว่างไว้ให้ผู้เรียนเติมคำหรือข้อความ ซึ่งคำหรือข้อความที่นำมาเติมอาจให้เติมอย่างอิสระหรือกำหนดตัวเลือกให้เติมก็ได้
  4. แบบหลายตัวเลือก เป็นแบบฝึกเชิงทดสอบ โดยจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นคำถาม ซึ่งต้องเป็นประโยคคำถามที่สมบูรณ์ ชัดเจนไม่คลุมเครือ ส่วนที่ 2 เป็นตัวเลือก คือ คำตอบ ที่อาจมี 3-5 ตัวเลือกก็ได้ ตัวเลือกทั้งหมดจะมีตัวเลือกที่ถูกต้องที่สุดเพียงตัวเลือกเดียว ส่วนที่เหลือเป็นตัวลวง
  5. แบบอัตนัย คือความเรียงเป็นแบบฝึกที่ตัวคำถาม ผู้เรียนต้องเขียนบรรยายตอบอย่างเสรี ตามความสามารถ โดยไม่จำกัดคำตอบ แต่จำกัดในเรื่องเวลา อาจใช้ในรูปคำถามทั่ว ๆ ไป หรือเป็นคำสั่งให้เขียนเรื่องราวต่าง ๆ ก็ได้

การออกแบบแบบฝึกทักษะ(อัตนัย) โดยเฉพาะที่ต้องให้ผู้เรียนแสดงวิธีทำ เพื่อดึงดูดความสนใจ เพื่อไม่ให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย ในแต่ละส่วนแต่ละบรรทัดที่ได้มานั้น ต้องแสดงให้เห็นว่าได้มาอย่างไร มีเหตุผลอะไร จึงจะทำให้ผู้เรียนเกิดแนวคิดและความคิดรวบยอดในแต่ละเรื่อง จึงจะถือว่าเป็นแบบฝึกที่ดี

2. ลักษณะการออกแบบแบบฝึกที่ดี ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

2.1 แบบฝึกทักษะ ควรมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติ

2.2 มีคำชี้แจงสั้น ๆ เพื่อช่วยให้ผุ้เรียนเข้าใจวิธีปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

2.3 ให้เวลาให้เหมาะสมกับกิจกรรมคือ ไม่นานเกินไป

2.4 เปิดโอกาสให้ผุ้เรียน ได้เลือกตอบทั้งแบบตอบจำกัดและตอบเสรี

2.5 มีคำสั่ง หรือ ตัวอย่างของแบบฝึกที่ไม่ยาวเกินไป และไม่ยากแก่การทำความเข้าใจ

2.6 ควรมีหลากหลายรูปแบบ มีความหมายต่อผู้เรียนที่ทำแบบฝึกทักษะ

2.7 แบบฝึกทักษะสามารถศึกษาด้วยตนเองได้

2.8 มีจำนวนแบบฝึกในการทำที่หลากหลายและมากพอในการให้ผุ้เรียนทำจนเกิดทักษะความรู้

3. การกำหนดเกณฑ์การให้คะแนน จากการทำแบบฝึกทักษะ ที่ให้ผู้เรียนแสดงวิธีทำ กำหนดค่าคะแนนในแต่ละข้อน้อยเกินไป ไม่น่าจะเหมาะสม เพราะแต่ละข้อมีขั้นตอนที่ต้องแสดงวิธีทำค่อนข้างยาว

4. ตรวจสอบการออกแบบและสร้างแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ทุกแบบฝึกทักษะโดยมีหลักการของการออกแบบฝึกทักษะ โดยเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ครูจัดประสบการณ์ให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติตามเนื้อหาต่าง ๆ ด้วยตนเองเพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญ น่าจะต้องพัฒนาและออกแบบให้มีเนื้อหาสาระและรูปแบบที่น่าสนใจ มีเนื้อหาเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก มีรูปแบบที่หลากหลาย เป็นรูปแบบที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ สื่อความหมายที่เป็นรูปธรรมเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน มีการวัดประเมินผล มีเกณฑ์การให้คะแนนที่ชัดเจน จึงจะเกิดความน่าเชื่อถือ

 

ข้อคิดจากคณะกรรมการประเมินผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยฐานะครู

ใส่ความเห็น